Lovely Flash templates from TemplateMonster!

เทคนิคการดูแลเด็กติดเกมเบื้องต้น สำหรับผู้ปกครอง

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล
ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

เด็กเล่นเกม/อินเตอร์เน็ตเป็นปัญหาหรือ?

การเล่นเกม/อินเตอร์เน็ตก็เหมือนกับการกระทำทุกอย่าง คือ ต้องมีความพอดี น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็ไม่ดี ตรงกลางไม่มากไป ไม่น้อยไปดีที่สุด เกม/อินเตอร์เน็ตมีทั้งประโยชน์และโทษ หากเราเข้าใจทั้งประโยชน์และโทษ เราก็จะสามารถใช้แต่พอดี โดยได้ประโยชน์และหลีกเลี่ยงโทษได้

ประโยชน์ของการเล่นเกม/อินเตอร์เน็ต มีหลายประการ ได้แก่เล่นแล้วเกิดความเพลิดเพลินสนุกสนาน คลายเครียด หรือทำให้เกิดความภูมิใจเมื่อประสบความสำเร็จ สามารถเอาชนะตามเงื่อนไข ตามขั้นตอนต่างๆ ที่กำหนดในเกมนั้นๆ หรือเด็กอาจพัฒนาความตั้งใจ ความมุ่งมั่นในการทำภารกิจบางอย่างให้ประสบความสำเร็จ แต่ข้อเสียของความมุ่งมั่นแบบนี้ คือ เป็นความมุ่งมั่นเทียมเพราะเป็นความอดทน ความพยายามบนความสบาย คือ ได้ตั้งใจเล่นเกมให้ชนะ โดยนั่งในห้องที่ไม่ร้อน (มักมีแอร์) ไม่มีเหงื่อ ไม่เหนื่อย จึงไม่ได้เป็นการต่อสู้กับความยากลำบาก เพื่อความสำเร็จที่แท้จริง หรืออย่างน้อยเด็กก็รู้สึกไม่เชย เข้ากับกลุ่มเพื่อนได้ คุยโม้โอ้อวดกับเพื่อนๆ ได้ เพราะเพื่อนๆ ก็เล่นเช่นเดียวกัน แต่หากเล่นเกม/อินเตอร์เน็ตนานๆ จะเกิดผลกระทบหรือโทษได้หลายประการเช่นกัน ได้แก่

1) โทษต่อสุขภาพร่างกาย เช่น แสบตา, ปวดข้อมือ, ไม่รับประทานอาหาร แสบกระเพาะ, อดนอน ตื่นสาย เพลีย, ง่วงเวลาเรียน หรือเวลางาน

2) โทษต่อสุขภาพจิต เช่น เกิดความทุกข์ ไม่สุขใจ ขัดแย้งในจิตใจภายในหรือขัดแย้งกับผู้คนรอบข้างได้ เพราะหากเล่นเกมอินเตอร์เน็ตนานๆ เข้า เด็กจะเกิดความรู้สึกชอบเอาชนะ เคยชินกับการแข่งขัน ต้องมีแพ้มีชนะ เคยชินกับการได้ดังใจ เพราะเกมสั่งได้บังคับได้ มีความสุขหรือรู้สึกสำเร็จเมื่อสั่งได้ดังใจ ไม่มีวินัย ไม่มีการควบคุมตัวเอง ไม่บังคับตนเอง ไม่มีความรับผิดชอบ เพราะเมื่อเกิดความเพลิดเพลินแล้ว (แต่ร่างกายเหนื่อยล้าเหมือนกับการเล่นกีฬา ซึ่งร่างกายจะเรียกร้องให้ต้องหยุดพักโดยปริยาย) มักจะไม่สนใจทำอย่างอื่นที่สำคัญ จำเป็น หรือฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ความรับผิดชอบที่มีอยู่ว่าควรทำหรือไม่ทำอะไร เช่น ไม่อ่านหนังสือ ไม่เข้านอน ไม่ทานข้าว ไม่กวาดบ้าน ล้างชามตามหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีอยู่ หรือแม้กระทั่งเกิดพฤติกรรมหนีออกจากบ้านหลายวัน ไม่กินนอนอยู่ในร้านเกมหรือเกิดพฤติกรรมการขโมยเงินพ่อแม่ เพื่อไปเล่นเกม เป็นต้น

3) โทษต่อสุขภาพสังคมหรือทักษะทางสังคมของเด็ก เช่น เด็กจะเห็นเพื่อนเป็นศัตรูของความสนุกสนาน เพื่อนมาแย่งเล่นจึงไม่อยากคบเพื่อน หรือแม้อยากจะคบแต่ก็คบเพื่อนฝูงไม่ค่อยเป็น เนื่องจากไม่ค่อยได้ฝึกทำให้ขาดทักษะทางสังคม เพราะเด็กอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือหน้าเกม บางคนอ้างว่าการเล่นเกมออนไลน์ หรือ chat ก็ได้เพื่อน ซึ่งมีความจริงอยู่บ้าง แต่ว่าความสัมพันธ์ออนไลน์เป็นความสัมพันธ์โลกเสมือน ไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริงเพราะเป็นความสัมพันธ์ที่พูดคุยกัน หรือแสดงความดี ความห่วงหาอาทรต่อกันได้มากโดยไม่ได้แสดงข้อเสีย เพราะไม่ได้อยู่ร่วมกันจริงๆ หรือเป็นความสัมพันธ์ที่บางคนไม่ได้แสดงตัวตนที่แท้จริง เป็นเด็กอาจแสดงตนเป็นผู้ใหญ่ เป็นชายอาจแสดงตนเป็นหญิง เป็นคนเห็นแก่ตัวอาจแสดงความมีน้ำใจก็เป็นได้ เพราะในโลกของอินเตอร์เน็ตสามารถแสดงเป็นอะไรก็ได้ ไม่มีใครรู้ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่คบหากันทางอินเตอร์เน็ต จนสนิทสนมกันแล้วนัดพบ จบลงด้วยการมีเพศสัมพันธ์กันง่ายดายอย่างที่ได้เห็นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ

4) โทษต่อการผลิตผลผลิตของชีวิต ได้แก่ การเรียนตก การเสียงาน เสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เช่น ในกรณีที่เป็นเด็กอาจเสียความสัมพันธ์กับพ่อแม่พี่น้อง หรือในกรณีที่เป็นผู้ใหญ่อาจเสียความสัมพันธ์กับคู่สามีภรรยาจนเกิดเหตุหย่าร้างก็มีมาแล้ว หรืออาจถึงขั้นเสียคนจากการมีพฤติกรรมอันธพาล ขโมยเงิน มั่วสุมเล่นการพนัน ใช้ยาเสพติด หรือมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมสืบเนื่องจากการคบเพื่อนไม่ดีในร้านอินเตอร์เน็ต

ทางออกที่ดีที่สุด คือ ความสมดุล ความสมดุล คือสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ใช้คอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตเลยคงจะไม่ได้ เพราะในชีวิตอนาคตทั้งการเรียน หรือการทำงานต้องใช้คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต แต่เล่นมากจนติดก็ไม่ดีแน่ จึงควรเล่นแต่พอดีในยามว่าง จำนวนเวลาที่ไม่มาก และเราสามารถกำหนดเกมอินเตอร์เน็ตได้ เช่น หนึ่งหรือสองชั่วโมงต่อวัน เราอยากจะเล่น หรือเลิกเล่นเมื่อไรก็ได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เกมอินเตอร์เน็ตมากำหนดเรา เรียกให้เราเล่น หรือบังคับไม่ให้เราเลิกทั้งๆที่เป็นเวลาควรเลิก