เรื่องน่าอ่าน
- คำสารภาพของพ่อ
- เทคนิคการดูแลเด็กติดเกมเบื้องต้น สำหรับผู้ปกครอง
- สร้างวินัย... ด้วยวิธีการเชิงบวก
- หลักในการเลี้ยงดูลูก
- ทำอย่างไรจึงจะเป็นครอบครัวที่มีคุณภาพ
- วินัยและความรับผิดชอบ กับการเล่นเกม
- คุณเข้าใจลูกดีแค่ไหน
- วิธีแก้ปัญหาเด็กดื้อ
- การจัดการกับปัญหาต่างๆ ในวัยเรียน
- การเรียนมัธยมปลายขณะวัยรุ่น
- ครอบครัวอบอุ่น สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก
- ช่วยลูกวางแผนแบ่งเวลา
- เทคนิคการฝึกเด็กให้รู้จักรับผิดชอบ
- มัธยมต้น เรียนอย่างมืออาชีพ
- เพชรเม็ดงามหลังการเจียระไน
- ลูกขอ... พ่อแม่ไม่ให้
การจัดการกับปัญหาต่างๆ ในวัยเรียน
ศาสตราจารย์นายแพทย์ พิภพ จิรภิญโญ
เมื่อลูกออกสู่สังคมภายนอกจากบ้านสู่โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม และโรงเรียนมัธยมนั้นลูกจะเริ่มพบปัญหาต่าง ๆ มากมาย การสอนลูกให้เป็นคนดีตั้งแต่ในบ้านนั้น อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเขาได้ โดยแต่ละปัญหานั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละวัน โดยมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันในแต่ละคราว พ่อแม่จึงควรทราบว่า สภาพแวดล้อมภายนอกบ้านที่ลูกต้องผจญอยู่นั้นย่อมทำให้ลูกเกิดปัญหาได้ตลอด เวลา จึงเลือกสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุดให้แก่ลูก แต่ถึงอย่างไรก็ยังจะมีปัญหาอื่นๆ ติดตามมาควรหมั่นติดตามอย่างใกล้ชิดและรีบแก้ไขแต่ละปัญหาให้ทันท่วงทีและ ให้ลุล่วงไปทุกครั้ง
ในกรณีที่มีลูกสองคนกำลังเรียนหนังสือและอยู่กันคนละโรงเรียน ไม่สามารถไปทางเดียวกันได้ ก็ควรแยกกันไป โดยพ่อไปส่งลูกคนหนึ่ง และแม่พาลูกอีกคนหนึ่งไปส่ง ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ หรือรถส่วนตัวก็ได้ ทุกเช้าทั้งครอบครัวแยกกันไปโรงเรียนด้วยความสดชื่น แจ่มใส และร่าเริง เพื่อให้ลูกพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ในโรงเรียน พ่อแม่ไม่ควรเริ่มต้นของวันด้วยการทะเลาะกันเอง หรือว่ากล่าวลูกจนอารมณ์เสียแต่เช้า ซึ่งทำให้ลูกไม่พร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ ๆ ในวันนั้น ถ้าไปถึงโรงเรียนก่อนเวลามาก ก็อยู่กับลูกที่หน้าโรงเรียน อาจจะในร้านอาหารข้างโรงเรียน โดยใช้เวลาช่วงนี้สอบถามปัญหาต่าง ๆ ของลูกหรือปัญหาอื่นที่ยังค้างคาใจเขาอยู่ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าไม่ถามถึง ลูกอาจจะเก็บไว้คนเดียว โดยคิดว่าแก้ไขไม่ได้ แต่ถ้าเราแก้ไขให้ ลูกจะมีความสุขในการเรียนมากยิ่งขึ้น
ความใกล้ชิดและความช่างสังเกตของพ่อแม่จะทำให้รู้ว่า ช่วงนี้ลูกเปลี่ยนไป ทำไมอารมณ์จึงไม่สดใสเหมือนเดิม ให้ทบทวนเหตุการณ์ภายในบ้านที่ผ่านมาว่า มีปัญหาอะไรบ้างที่อาจจะค้างคาใจเขาอยู่ ถ้าไม่มีเลย ก็อาจจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน ค่อย ๆ ตะล่อมเขา เพื่อให้เขาคลายปัญหาออกมา เช่น “ ช่วงนี้ครูสมศรีดุกว่าเดิมไหม” หรือ “ น้องบอล (เพื่อนสนิท ช่วงนี้เป็นยังไง” หรือ “ เลขที่เรียนบทนี้สนุกไหม” 3 ปัจจัย คือ ครู เพื่อน และวิชาที่เรียน คือ ปัญหาหลักที่จะทำให้ลูกเกิดความเครียดได้ บางครั้งอาจจะจับได้ว่าเพื่อนล้อในจุดด้อยของตัวลูก ก็จะเป็นการง่ายในการแก้ไขปัญหา โดยการแก้ไขจุดด้อยของลูกให้เป็นปกติหรือกลายเป็นจุดเด่นก็ได้ เช่น ลูกถูกล้อว่าอ้วน พ่อหรือแม่ก็อาจนำปัญหานี้ปรึกษาหมอ ลูกจะมีความเต็มใจในการลดน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหาร พ่อแม่อาจเป็นผู้นำในการออกกำลังกาย การได้แก้ไขอย่างจริงจังจะช่วยลดความเครียดของเขาได้ ส่วนจุดด้อยอื่นที่ไม่อาจแก้ไข พ่อแม่อาจหาจุดเด่นในตัวลูกให้เขาภูมิใจในจุดเด่นด้านอื่น เพื่อมาหักล้างจุดด้อยนี้โดยทางบ้านควรหมั่นชมเชยในจุดเด่นของเขา ซึ่งในที่สุดก็จะชนะจุดด้อยได้ เช่น เขามีความสามารถทางดนตรี ก็ควรส่งเสริมให้เขามีจุดเด่นทางด้านนี้ขึ้นมา ในที่สุดสิ่งที่ถูกล้อซึ่งเป็นจุดด้อย จะถูกจุดเด่นที่เขามีส่วนสร้างขึ้นมากลบลงได้
F โดนเพื่อนแกล้ง
บ่อยครั้งที่ลูกได้รับการอบรมมาอย่างดีจากที่บ้าน อาจจะไม่ชอบคบกับเพื่อนที่เกเร และเพื่อนที่เกเรนี้อาจมาจากครอบครัวที่ขาดความอบอุ่นและขาดการอบรม จึงเป็นธรรมชาติของเด็กพวกนี้ที่อาจจะรวมกลุ่มกันแกล้งเด็กที่เรียบร้อยหรือ แยกตัวจากกลุ่มเขา ลูกอาจจะถูกแกล้งทั้งจากการพูดจาถากถางขโมยสิ่งของหรือกระทั่งเดินชนก็ได้ ถ้าทราบสาเหตุของความเครียดของลูกเช่นนี้ การแก้ไขโดยการแจ้งให้ครูทราบก็อาจจะพอช่วยได้ แต่อาจจะทำให้ปัญหานั้นหนักมากขึ้น เพราะภายในโรงเรียนกว้างใหญ่เกินกว่าที่ครูจะดูแลได้ตลอดเวลา พ่อหรือแม่อาจหาทางพบกับหัวโจกของกลุ่มหลังเลิกเรียน ให้ความเอ็นดูเขา ทำเป็นไม่รู้เรื่องต่าง ๆ พูดคุยกับเขา ทำดีและทำความสนิทสนมกับเขาทุกเย็น จนได้เวลาเหมาะสมก็อาจซื้อน้ำเย็นให้เขาเหมือนที่ซื้อให้ลูก ให้ความรักเขาดั่งลูก อาจจะเข้าถึงจิตใจเขาซึ่งเป็นสิ่งที่หัวโจกเหล่านี้ต้องการมากที่สุด และอีกไม่นานเขาจะเป็นคนต่อต้านคนอื่นไม่ให้มาทำร้ายลูก หรือเป็นผู้ปกป้องลูกให้ตลอดเวลา
F เพื่อนแข่งเรียน
ในช่วงชั้นประถมศึกษา บางโรงเรียนอาจมีการให้รางวัลจูงใจให้แก่คนที่ทำคะแนนสอบได้เป็นที่หนึ่งของ ห้องเรียนหรือของโรงเรียน เมื่อลูกเลือกสายที่ถนัดทางด้านการเรียนก็อาจจะทำคะแนนได้ดี บางครั้งทำคะแนนได้เป็นที่หนึ่งหรือบางครั้งเป็นที่สองหรือที่สาม โดยแพ้เพื่อนคนอื่นที่เขารักเรียนเช่นกัน ถ้าลูกถูกสอนมาดีตั้งแต่เล็กก็จะมองการพ่ายแพ้ต่อเพื่อนว่า เพื่อนเป็นคนเก่ง ทำให้สู้เขาไม่ได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกต้อง พ่อแม่ก็ควรชมเพื่อนคนนั้นให้ลูกฟัง ไม่ควรพูดจาดูถูกว่า เขาไม่เก่งเท่าลูก ครั้งต่อไปลูกจะชนะเขา โดยชมเพื่อนของลูกว่า “ เขาเก่งนะ ลูกเจอคู่แข่งขันที่เก่งแล้วนะ” นอกจากนี้ ไม่ควรกำหนดว่าลูกต้องชนะหรือได้คะแนนเท่านั้นเท่านี้ในการสอบแต่ละครั้ง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ลูกถูกกดดันจากการพ่ายแพ้จากการสอบแข่งขันภายในห้อง ถ้าลูกสอบได้คะแนนเท่าไร ก็ควรหาโอกาสเลี้ยงฉลองให้ลูกกับความอุตสาหะที่เตรียมตัวสอบมากกว่าผลการสอบ ไม่ควรมองว่าเพื่อน ๆ ของลูกเป็นคู่แข่ง เพราะยังมีการสอบแข่งขันอีกมากมายที่รออยู่ข้างหน้า และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตัดสินเพื่อการเป็นที่ “ หนึ่ง” เพียงคนเดียว การร่วมมือกับเพื่อนที่แข่งกันเรียนจะมีประโยชน์ในอนาคต เพื่อนคนนี้หรือกลุ่มนี้จะเป็นเพื่อนช่วยคิด เป็นที่ปรึกษาปัญหาในวิชาต่าง ๆ เมื่อเรียนในชั้นมัธยมปลาย
F การเข้าชมรม
ในโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่พอสมควรจะมีชมรมต่าง ๆ มากมาย พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกเข้าชมรมใดชมรมหนึ่งที่ลูกมีความถนัด การเข้าชมรมจนถึงขั้นเป็นกรรมการชมรม หรืออาจจะก้าวเข้าสู่ประธานชมรมนั้นไม่ได้รบกวนการเรียนในชั้น ม.ปลายเท่าใดนัก ในทางตรงกันข้าม บางชมรมอาจจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในวิชานั้น ๆ ได้ โดยชั้น ม.4 อาจจะสมัครเป็นสมาชิกของชมรมร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของชมรมซึ่งมักจะมีเพียงเดือนละครั้ง ลูกจะได้เรียนรู้งานด้านนั้นเพิ่มเติมและได้เริ่มฝึกการทำงานกลุ่มนอกเหนือ จากการเรียนปกติ ชมรมที่พบได้ในโรงเรียนใหญ่ ๆ เช่น ชมรมคณิตศาสตร์ ชมรมคอมพิวเตอร์ ชมรมวิทยาศาสตร์ ชมรมดนตรีสากล ชมรมดนตรีไทย เป็นต้น พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกได้เลือกชมรมที่ต้องการเอง เมื่อลูกขยับขึ้นมาเรียนในชั้น ม.5 ควรส่งเสริมให้ลูกได้ทำงานเพื่อชมรม อย่าให้หมกมุ่นแต่การเรียนเพียงอย่างเดียว การฝึกทำงานให้ชมรมแต่พอดีจะช่วยให้ลูกมีประสบการณ์ในกิจกรรม ร่วมมือการทำงานกับคนหลาย ๆ ระดับ และเมื่อลูกอยู่ชั้น ม.6 อาจจะทำงานในตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น เช่น เลขาธิการ เหรัญญิก รองประธาน หรือจะเป็นประธานก็ได้ ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานนี้ จะช่วยให้ลูกเป็นคนกล้าทำงานต่อไปในอนาคต และขอย้ำอีกครั้งว่าการทำงานนี้มิได้รบกวนการเรียนในชั้น ม.ปลาย ของลูกเลย
F เพื่อนต่างเพศ
ในช่วงปลายของชั้น ม. ต้น ต่อถึงช่วง ม. ปลาย ลูกอาจจะประสบปัญหาที่เพื่อนต่างเพศมาติดพันได้ โดยปกติถ้าเลี้ยงลูกด้วยความอบอุ่นใกล้ชิดตลอดเวลาตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ลูกจะใส่ใจแต่การเรียนหรือกิจกรรมบางอย่าง แต่ถ้าลูกไม่ได้รับการเอาใจใส่หรือการดูแลมาอย่างดี ลูกอาจจะหันมาหาเพื่อนต่างเพศได้ง่ายในระยะนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเรียนของลูกได้ และอาจมีผลไม่พึงประสงค์อีกมากมาย ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขหรือได้แก้ไขแต่ไม่ถูกวิธี ในบางครั้งเพื่อนต่างเพศที่มาติดพันลูกโดยที่ลูกไม่มีใจให้ จนรบกวนสมาธิการเรียนของลูก ความใกล้ชิดกับลูกและครอบครัวที่อบอุ่นจะทำให้รู้ปัญหานี้ การบอกกล่าวเรื่องดังกล่าวกับครูประจำชั้นหรือครูฝ่ายปกครองอาจจะเป็นช่อง ทางหนึ่ง แต่การได้พูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กคนนั้นจะเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุและได้ ผลดีที่สุด เพราะผู้ปกครองของเขาจะมีอิทธิพลในการปรับปรุงพฤติกรรมได้มากกว่าครูที่ โรงเรียน
ปัญหาในวัยเรียนมีมากมายและแตกต่างกัน ตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยมปลาย ทุก ๆ ปัญหาของลูกนั้นพ่อแม่ควรรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว ปรึกษากันเองเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ แล้ววางแผนแก้ไขด้วยความละมุนละม่อม พร้อมกับการติดตามผล ถ้าไม่ทราบวิธีแก้ไข อาจปรึกษากับผู้มีประสบการณ์ เพื่อให้การแก้ไขนั้นบรรลุผลออกมาในแนวทางที่ดีที่สุด พ่อแม่อย่าได้เครียดกับปัญหาควรรับรู้ว่า ปัญหาต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา อย่าได้หนีปัญหา ลงมือแก้ไขทีละปัญหาไปเรื่อย ๆ แล้วในที่สุดลูกก็จะมีประสบการณ์มากพอที่จะแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ได้เอง และสามารถผ่านพ้นช่วงวัยรุ่นอย่างสง่างาม
ที่มา : หนังสือ “ เลี้ยงลูกให้เก่งและดี ” หน้า 111-116 พิมพ์ครั้งที่ 7: 2551