Lovely Flash templates from TemplateMonster!

คุณเข้าใจลูกดีแค่ไหน

ดร.นวลศิริ เปาโรหิตย

“ เด็กทุกคน กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต้องการการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป ร่างกายเติบโตได้เพราะอาหารฉันใด จิตใจจะเจริญงอกงามได้ย่อมต้องการความรัก ความเข้าใจ และกำลังจากพ่อแม่ ฉันนั้น”

ครอบครัว ที่นั่งอยู่ตรงหน้าผู้เขียนเป็นครอบครัวขนาดกลางที่มีสมาชิกเพียงสี่คน คือ พ่อ แม่ ลูกสาว วัยรุ่นอายุ 14 ปีหนึ่งคน และลูกสาวคนเล็กอายุ 10 ปีอีกหนึ่งคน คุณพ่อเป็นชายวัยกลางคน อายุประมาณ 43 ปี ส่วนคุณแม่อายุคงไม่เกิน 40ปี

ทั้งครอบครัวมีเรื่องของความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อแม่ และลูกสาวคนโต คุณแม่เป็นผู้จัดการให้ทุกคนได้มาพบกับผู้เขียน คุณแม่เล่าว่า เก๋ลูกสาวคนโตมีพฤติกรรมที่ ดื้อดึง ไม่เชื่อฟัง และชอบลองดีท้าทาย ให้คุณแม่ต้องมา “ ลงมือลงไม้กันอยู่บ่อยๆ”

และที่หนักข้อคือ ขณะนี้ “ ริอ่านมีเพื่อนผู้ชาย ทั้ง ๆที่อายุเพิ่งจะ 14 เท่านั้น” เรื่องนี้คุณแม่บอกว่า ทนไม่ไหว ตลอดเวลาที่คุณแม่เล่าเรื่องกลุ้มของเธอให้ผู้เขียนฟัง จะสังเกตว่า ลูกสาวคนโตจะนั่งเงียบ ไม่แสดงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนคุณพ่อ ก็ดูท่าทีเป็นช้างเท้าหลัง นั่งฟังภรรยาพูดอย่างเดียว ไม่ใคร่โต้ตอบ เมื่อถามคำก็จะตอบคำเท่านั้น เมื่อหันไปมองลูกคนเล็ก เธอก็จะนั่งอิงแอบอยู่กับคุณแม่ ท่าทางก็แล้วแต่คุณแม่เช่นกัน

เมื่อผู้เขียนได้ฟังเรื่องราวจากปากของคุณแม่แล้ว ผู้เขียนก็อยากได้ข้อมูลจากทางเด็กบ้าง จึงขอให้ทุกคนเปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้อยู่กับเก๋ตามลำพัง เพื่อเธอจะได้สะดวกใจ ถ้าจะเล่าเรื่องของเธอให้ฟัง เก๋เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “ ในบ้านของเรา แม่จะมีอำนาจมากที่สุด ทุกคนจะกลัวแม่ แม้แต่พ่อก็จะยอมแม่ มีอยู่คนเดียวที่ไม่ยอมแม่คือเก๋”

เธอเล่าต่อไปว่า ตั้งแต่เกิดมาจำความได้ เธอจะถูกแม่บังคับในทุกๆเรื่องตั้งแต่เรื่องกิน เรื่องนอน เสื้อผ้าที่จะใส่ รวมทั้งเพื่อนที่จะคบ ต้องผ่านการคิดสรรจากแม่หมด ชีวิตของเธอมีแต่ตารางที่แม่ขีดให้เดิน เธอไม่มีโอกาสเป็นตัวของเธอเองเลย ในช่วงวัยเด็ก เธอก็จะยอมเพราะไม่มีทางเลือก แต่เธอยอมรับว่า ปัจจุบันเธอ “ แข็งข้อ” กับแม่ของเธอ ไม่ต้องการให้แม่มาบงการชีวิตของเธอ เธอรู้สึกอยากเอาชนะ ยิ่งถ้ารู้ว่าแม่ไม่ชอบให้ทำอะไร เธอก็จะทำสิ่งนั้น เช่น การคบเพื่อนชาย เธอกล่าวว่า เธอไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษกับเขาเลย “ เราเป็นเพื่อนร่วมห้องกันธรรมดา” แต่พอแม่แค่รู้ว่าเขาโทรศัพท์มา ก็อาละวาด และสั่งห้ามเด็ดขาด ไม่ให้เธอคบกับเขาอีกต่อไป มันก็ยิ่งทำให้เธอรู้สึกว่าแม่ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมกับเธอ “ บางครั้งนะคะ หนูอยากจะทำอะไรให้มันสะใจ ให้สมกับที่แม่กล่าวหาหนูอย่างไม่ยุติธรรม”

เรื่องของครอบครัวเก๋ ก็จัดเป็นเรื่องที่เรามักจะเคยพบเคยได้ฟังกันมาบ้าง และหลายคนก็อาจจะมองว่า เด็กวัยรุ่นมักจะมีปัญหากับพ่อแม่ของเขา แต่ถ้าเรามาวิเคราะห์ดูให้ดีจะพบว่า ครอบครัวนี้เป็นตัวอย่างของครอบครัวที่มีแม่เป็นใหญ่ เป็นผู้ควบคุมดูแลให้ทุกชีวิตเดินไปในทิศทางที่แม่กำหนด โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของสมาชิกในครอบครัว ถ้าสมาชิกคนไหนยอม “ ลงให้” แม่จะมีความสุข แต่เมื่อมาโดนเข้ากับสมาชิกที่ต้องการถูกควบคุมเช่นเก๋ ก็จะได้รับการต่อต้าน และตราบใดที่คุณแม่ยังไม่พิจารณาตัวเอง และพิจารณาวิธีการปกครองลูก คุณแม่ก็คงจะใช้การบังคับอย่างเข้มต่อไป และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เด็กยอมรับไม่ได้ ก็จะมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนออกไปดังเช่นในกรณีของเก๋

พฤติกรรมของเด็ก มีสาเหตุจากอะไร

ในทางจิตวิทยาถือว่า พฤติกรรมของเด็กทุกคนล้วนมีจุดมุ่งหมายในตัวของมันเองเสมอ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการทำตนเป็นเด็กดี ซน หรือเกะกะ เกเร ล้วนมาจากสาเหตุใหญ่ 4 ประการดังนี้ คือ

  • ต้องการให้พ่อแม่มาสนใจในตัวเขา

อย่าว่าแต่เด็กเลย มนุษย์ทุกคนล้วนมีความต้องการขั้นพื้นฐานอยู่สิ่งหนึ่ง นั่นก็คือ อยากให้คนอื่นมาสนใจเรา เอาใจใส่เรา เห็นเราเป็นคนสำคัญและมีคุณค่าด้วยกันทั้งสิ้น แต่เด็กและผู้ใหญ่จะมีการแสดงออกต่างกัน ผู้ใหญ่อาจจะแสดงออกด้วยการแต่งตัวให้ดูสะดุดตา ขับรถคันโก้ หรือพูดจาด้วยเสียงดัง เป็นต้น แต่สำหรับเด็กๆ ความต้องการอยากให้พ่อแม่มาใส่ใจพวกเขา อาจแสดงออกมาได้หลายทาง ทั้งทางที่ดี ไปจนถึงทางที่ไม่ดี ในทางที่ดี ก็ได้แก่ทำตัวให้เป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ เช่น ถ้าพ่อแม่อยากให้เด็กเรียนดี เด็กก็จะพยายามเรียนให้ดี ทำตัวเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ทำให้พ่อแม่ชื่นชม และตัวเด็กเองก็ได้รับความพอใจในการที่พ่อแม่มาใส่ใจในตนเองนอกจากนี้ก็มี ลักษณะอื่นๆ เช่น ออดอ้อน เกาะติด ไม่ยอมปล่อย ต้องการความสนใจตลอด 24 ชั่วโมง

ต่อไปก็เป็นลักษณะที่ทำตัวเด่นต่างๆ หรือไม่ก็จะทำตัวให้ไม่ดีเป็นเด็กดื้อ เกเร ไม่เชื่อฟัง ซึ่งก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่ต้องมาสนใจในตัวพวกเขา หรือเด็กบางคนอาจมีการกระทำที่ตรงข้ามกับพวกแรก คือ จะขี้อาย กลัว ไม่กล้าเข้าหน้าใคร พฤติกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ ล้วนทำให้พ่อแม่ต้องมาสนใจในตัวเขาทั้งสิ้น

พฤติกรรมชนิดแรก คือ การทำตัวเป็นเด็กดี มักจะถูกมองจากผู้ใหญ่ว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม พ่อแม่ มักจะชื่นชมถ้าลูกเรียนเก่ง ทำตัวเรียบร้อย แต่โดยแท้ที่จริงแล้ว ตามหลักจิตวิทยา การทำตัวดี ก็เป็นกระบวนการหนึ่งของการที่เด็กต้องการให้พ่อแม่มาใส่ใจตน และ พ่อแม่ส่วนมาก ก็มักจะกลุ่มใจกับพฤติกรรมทำฤทธิ์ หรือ หงอยของเด็ก มักจะคิดว่า ลูกคนนี้เลี้ยงยาก และไม่เข้าใจว่าที่เด็กทำเช่นนั้น ก็เป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่คิดแบบเด็กๆ ว่าจะสามารถเรียกความสนใจจากพ่อแม่มาสู่ตนเองได้ แม้จะเป็นการทำในทางลบก็ตาม ดังนั้นพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจลูก อาจจะเริ่มให้ความสนใจกับเด็กให้มากกว่าเดิม เพื่อลูกๆ จะได้ไม่ต้องใช้วิธีการลบมาให้พ่อแม่สนใจในตัวเขา

  • ต้องการแสดงหาอำนาจ

เด็กๆทุกคนให้เล็กหรือโตแค่ไหนก็ตาม จะรู้จักการขัดคำสั่ง หรือดื้อกับพ่อแม่เป็นทุกคน คล้ายกับเด็กๆ จะส่งสัญญาณให้พ่อแม่ของเขารู้ว่า “ ฉันอยากจะทำอย่างนี้ อย่ามาบังคับให้ทำอย่างอื่นเลย ไม่สำเร็จหรอก” เด็กต้องการแสดงให้พ่อแม่เขารู้ว่า เขาก็มีอำนาจเหมือนกัน ไม่ใช่พ่อหรือแม่จะมีอำนาจบังคับเขาฝ่ายเดียวเมื่อไร

ความต้องการแสดงอำนาจของเด็กนี้ อาจแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การดื้อดึง ไม่เชื่อฟัง เถียงคำต่อคำหรือบอกอย่างจะทำอีกอย่าง ดังเช่นกรณีของเก๋ ที่เด็กรู้สึกว่า แม่ใช้อำนาจเผด็จการกับเขามากเกินไป ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอยากท้าทายอำนาจกับแม่ของเขา แต่เธอไม่รู้หรอกว่า ยิ่งเธอแสดงการต่อต้านมากเท่าไร ทางผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจในตัวเธอ ก็จะยิ่งใช้ความรุนแรงกับเธอมากขึ้นเป็นเงาตามตัว รวมทั้งอาจมีมาตรการต่างๆ ที่แสดงถึงการปราบปรามให้ราบคาบ

ผู้เขียนเคยได้ทราบถึงเรื่องที่แม่คนหนึ่ง ใช้วิธีกร่อนผมเด็กหญิงให้เธอได้รับความอับอาย เพราะไม่ต้องการให้เธอคบเพื่อนชาย โดยผู้เป็นแม่คิดว่ามาตรการนี้ คือไม้เด็ดที่จะทำให้ลูกสาวไม่กล้าออกจากบ้าน แต่ที่ไหนได้ เธอก็พยายามหนีออกไปจากบ้านจนได้ กว่าแม่จะรู้ก็สายไปเสียแล้ว เธอไปอยู่กินกับเพื่อนชายเรียบร้อยไปแล้ว

ดังนั้น ถ้าพ่อแม่ทุกคนเข้าใจความจริงข้อนี้ ก็คงจะไม่ใช้วิธี ตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพราะมันกลับยิ่งทำให้เด็กๆ ต่อต้านมากขึ้น และต่างฝ่ายต่างก็จะหาวิธีการที่รุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆมาพิสูจน์อำนาจกัน ซึ่งก็มักจะประสบกับความพ่ายแพ้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ และมีลูกที่อยู่ในข่ายที่อยากแสดงอำนาจเช่นนี้ วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ ปล่อยให้เด็กแสดงไปคนเดียว คุณไม่ควรลงไปเล่นเกมนี้กับเด็กๆ ด้วยเป็นอันขาด ถอนตัวออกมาจากสถานการณ์ที่ท้าทายนั่นเสีย การแสดงอำนาจของเด็กก็จะแสดงอยู่ได้ไม่นาน ถ้าไม่มีคนดู

  • ต้องการแก้แค้นผู้ใหญ่

เด็กที่ต้องการแก้แค้นผู้ใหญ่ มักจะเป็นเด็กที่มี “ ปัญหา” ในสายตาของผู้ใหญ่ เด็กจะแสดงพฤติกรรมที่สังคมรังเกียจต่างๆ เช่น การลักขโมย การพูดปด หรือทำร้ายบุคคล สัตว์ สิ่งของที่เขาจะทำได้

เด็กกลุ่มนี้ มักจะเป็นเด็กที่เคยถูกทำร้ายอย่างบอบช้ำ จึงต้องการทำร้ายบุคคลอื่นหรือผู้อื่น หรือสิ่งอื่นเป็นการตอบโต้ และถ้าสามารถทำได้รุนแรงมากเท่าใด ก็จะยิ่งรู้สึกสาแก่ใจเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น เด็กที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง ไม่ได้รับความรัก อาจมีความโกรธแค้น เกลียดชังพ่อแม่ในส่วนลึก และจะหาวิธีแก้แค้นเป็นทางออกของความเจ็บปวด เช่น การลักขโมย พูดไม่จริง เพื่อทำให้พ่อแม่เสียใจ เพราะจุดมุ่งหมายของเขาก็คือ ต้องการทำให้พ่อแม่เจ็บปวดบ้างเหมือนที่เขาเคยรู้สึก ดังนั้นถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจเด็ก และใช้วิธีการลงโทษที่รุนแรง เด็กก็จะยิ่งรู้สึกสะใจว่าเขาทำในสิ่งที่ต้องการได้สำเร็จ (คือสร้างความทุกข์ให้พ่อแม่ได้สำเร็จ) ทางออกที่ถูก พ่อแม่ที่เข้าใจเด็ก รู้ว่าเด็กมีบาดแผลทางจิตใจจึงควรเปลี่ยนวิธีการจากการลงโทษที่รุนแรง มาเป็นความเข้าใจและยอมรับในตัวเด็ก ค่อยๆ ให้กำลังใจเขา เข้าใจความต้องการของเขา และสนองตอบความต้องการ ด้วยความรักและเมตตาเป็นที่ตั้ง

  • เกิดจากความรู้สึกมีปมด้วยของเด็ก

เด็กที่อยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีปมด้อย รู้สึกหมดกำลังใจที่จะทำความดี ท้อแท้ และสิ้นหวังทีจะทำความดีอีกต่อไป แต่การแสดงออกจะไม่ออกมาในทางก้าวร้าว แต่จะเป็นไปในทางตรงข้ามคือ เงียบหงอย ถอนตัวออกมาจากกลุ่ม บางที่ก็จะดูเหมือนซึมเศร้าอยู่เสมอ

จริงๆ แล้วเด็กกลุ่มนี้ต้องการการดูแลช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เป็นอย่างมาก เพราะแต่เดิม เด็กไม่ได้มีสภาพจิตใจเช่นนี้ เด็กเหล่านี้มักจะมีภูมิหลังว่า ครั้งหนึ่งเขาทำตัวเหมือนเด็กคนอื่นๆ แต่อาจมีประสบการณ์ที่ล้มเหลว ในความพยายามที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทำให้หมดความรู้สึกทีจะพยายามทำอีกต่อไป ไม่กล้าทำอะไรอีก เหมือนเป็นการบอกใบ้ให้พ่อแม่รู้ว่า ไม่ต้องมาหวังอะไรในตัวเขาอีกต่อไป

ถ้าคุณมีเด็กลักษณะนี้ สิ่งที่ต้องทำก็คือ การให้กำลังใจประคับประคองให้เขากล้าที่จะเริ่มต้นใหม่ และสิ่งที่ไม่ควรให้อย่างยิ่งก็คือ คำวิจารณ์ ตำหนิ หรือเปรียบเทียบทำนองว่า เขาไม่มีวันสู้พี่น้องได้ เป็นต้น เพราะการตอกย้ำบ่อยๆ จะทำให้เขายิ่งรู้สึกว่าตัวเองแย่ลงไปทุกที เพิ่มพูนความรู้สึกมีปมด้อยของเขาให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเขาแม้แต่น้อย

เด็กทุกคนกว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ต้องการการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป ร่างกายเติบโตได้เพราะอาหารฉันใด จิตใจที่จะเจริญงอกงามได้ ย่อมต้องการความรัก ความเข้าใจ และกำลังใจจากพ่อแม่ ฉันนั้น

โปรดระลึกไว้เสมอว่า ไม่มีเด็กคนใดเลยที่ไม่อยากเป็นที่รักของพ่อแม่ เด็กๆ จะทำทุกอย่างเพื่อให้พ่อแม่มารักเขา เด็กทุกคนเมื่อเกิดมาเขาย่อมต้องการรักพ่อแม่ของเขา แต่การปฏิบัติของพ่อแม่ที่มีต่อเขา ทั้งด้านบวกและลบต่างหากที่จะค่อยๆ หล่อหลอม ให้เขาเป็นบุคคลอย่างที่เขาเป็นอยู่

เด็กที่โชคดี มาจากครอบครัวที่ให้ความรักความอบอุ่นแก่เขา เขาก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ให้ความรักกับผู้อื่นได้อย่างจริงใจ

 

พ่อแม่มิเพียงแต่เลี้ยงดูให้ลูก

มีการเจริญเติบโตทางร่างกายเท่านั้น

แต่ต้องช่วยเหลือให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีสุขภาพจิตที่ดี

มีดวงใจที่จะรักและเมตตาผู้อื่น

และช่วยเหลือสังคมที่เขาอยู่ด้วยในขณะเดียวกัน


ที่มา : จากหนังสือ “ จิตวิทยาชีวิตครอบครัว” โดย ดร.นวลศิริ เปาโรหิตย์ หน้า 76-82