Lovely Flash templates from TemplateMonster!

การเรียนมัธยมปลายขณะวัยรุ่น

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์ พิภพ จิรภิญโญ


ปัจจุบันการเรียนในชั้นมัธยมปลายสายวิทยาศาสตร์ให้ดีนั้นมีความยากมาก ทั้งนี้เพราะเนื้อหาในแต่ละวิชาได้ลงไปลึกกว่าในอดีต หลาย ๆ วิชาจะต้องอาศัยการอ่านและการท่องจำ เช่น ชีววิทยา ภาษาไทย และสังคมศึกษา ในขณะที่วิชาที่ต้องการใช้การคำนวณ เช่น คณิตศาสตร์ เคมี และฟิสิกส์จำเป็นต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและทำแบบฝึกหัด นอกจากนี้วิชาเหล่านี้ก็ยังยากเกินกว่าที่พ่อแม่จะอธิบายให้ลูกเข้าใจได้ ความยากของวิชาเหล่านี้อาจทำให้ครูอีกจำนวนมากที่สอนวิชาเหล่านี้ไม่สามารถ เข้าใจวิชาที่สอนได้อย่างลึกซึ้ง ลูกจึงค่อนข้างจะโดดเดี่ยวเมื่อเรียนมาถึงชั้นนี้ ในขณะที่ลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น จิตใจและอารมณ์จะไม่เหมือนช่วงชั้นมัธยมต้น ลูกจะอ่อนไหวได้ง่ายมีการตอบสนองต่อความผิดหวังและความเครียดได้อย่างรุนแรง การเลี้ยงลูกในวัยนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อพ่อแม่เป็นอย่างยิ่ง ความเอาใจใส่ลูกในระยะนี้จึงควรจะมากขึ้นเป็นทวีคูณ และต้องให้เวลาในการเลี้ยงดูมากกว่าในทุก ๆ วัยที่ผ่านมา

พ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกด้วยความใกล้ชิดมาตลอดเวลานั้นจะเริ่มสังเกตได้ว่าลูก มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยนี้เป็นอย่างมาก ลูกจะเริ่มมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองมากขึ้น พ่อแม่ที่เคยเลี้ยงลูกด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อาจจะเริ่มสังเกตว่าลูกไม่ยอมทำตามบ้างในบางครั้ง ในขณะที่พ่อแม่เป็นห่วงปัญหาภัยจากสังคมต่าง ๆ ที่รายล้อมลูก แต่ลูกเองก็หารู้ถึงภัยเหล่านั้นไม่ แต่กลับมีความอยากรู้อยากเห็นหรืออยากทำสิ่งต่าง ๆ ตามความคิดของตนเอง ความใกล้ชิด ความรัก และความเข้าใจลูกของพ่อแม่ตั้งแต่เล็กเรื่อยมาจนปัจจุบันจะช่วยคลี่คลายความ ไม่เข้าใจในขณะนี้ได้ แต่ถ้ามีการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าในขั้นตอนใดก่อนหน้านี้ ปัญหานั้นก็อาจจะระเบิดในช่วงนี้ และปัญหานั้นอาจหมายถึงอนาคตหรือชีวิตของลูกเลยก็ว่าได้

การใส่ใจในปัญหาของลูกในวัยนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นการห้ามหรือบังคับลูกในทุกๆ เรื่อง ควรค่อย ๆ ปล่อยการดูแลเป็นคราว ๆ ไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงควรอยู่คือ การส่งลูกไปโรงเรียนในเวลาเช้า และการรับลูกกลับบ้านหลังเลิกเรียน ซึ่งพ่อหรือแม่ควรทำหน้าที่นี้เอง การรับประทานอาหารเช้ากับลูกที่บ้านหรือร้านอาหารใกล้โรงเรียน จะทำให้มีเวลาพูดคุยกับลูกประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนลูกจะเข้าเรียน ลูกสาวอาจจะสะดวกใจที่ได้พูดคุยกับแม่ ลูกชายก็อาจชอบที่จะอยู่กับพ่อ ถ้าลูกเป็นฝ่ายเริ่มต้นสนทนา ก็ขอให้สนใจฟังและไต่ถาม พยายามจับประเด็นเพื่อให้รู้ว่าลูกกำลังสนใจเรื่องอะไร ถ้าลูกเป็นคนไม่ค่อยพูด ก็ไม่ควรที่จะเริ่มถามหรือซักไซ้กับลูกมากเกินไป ปล่อยให้ลูกเป็นคนเริ่มสนทนา แล้วจึงค่อยต่อบทสนทนาของลูก ควรจับประเด็นจากบทสนทนานั้นว่าลูกสนใจอะไรเป็นพิเศษ เพื่อจะได้สนทนาในด้านที่ลูกสนใจเป็นพิเศษนั่นเองในช่วงเย็นหลังเลิกเรียนก็ ควรรับลูกกลับบ้านด้วยตนเอง ไม่ควรให้ลูกมีเวลาว่างเกินกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไป เพราะลูกอาจจะตามเพื่อน ๆ ไปทำอะไรที่ไม่เหมาะสมในช่วงว่างนั้นได้

ลูกอาจจะเลือกทำกิจกรรมที่ชอบในโรงเรียน ควรส่งเสริมให้ลูกทำแต่พอดี โดยไม่ให้ถึงกับเสียการเรียน ลูกอาจจะมีความสุขที่ได้ทำกิจกรรม กิจกรรมนี้อาจช่วยคลายความเครียดจากการเรียนได้พอสมควร

อย่าลืมว่าขั้นสุดท้ายของการเรียนในชั้นนี้คือ การสอบโอเน็ทและเอเน็ท รวมทั้งการสอบวัดความรู้พื้นฐานในแต่ละสายวิชาชีพ สิ่ง นี้คือสิ่งที่กดดันลูกอยู่ตลอดเวลา ลูกมักไม่พูดออกมา แต่อาจแสดงออกมาทางด้านอื่น เช่น อาการปวดหรือมึนศีรษะ การนอนไม่หลับ ความกังวลกับการเรียน อาการอาจจะมากจนทำให้อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง และต่อเนื่องจนถึงขั้นไม่อยากอ่านหนังสือ แล้วหาทางออกโดยการดูทีวีหรือเล่นคอมพิวเตอร์มากขึ้น อารมณ์ของลูกอาจจะอ่อนไหวกว่าปกติ มีอะไรขัดใจก็อาจจะโกรธหรือเสียใจมากเกินกว่าเหตุ พ่อแม่ที่ดูแลลูกในระยะ 2-3 ปีนี้ จึงควรระมัดระวังคำพูดรวมทั้งหมั่นสังเกตความผิดปกติของลูก ควรสืบค้นเพื่อจับให้ได้ว่าสาเหตุของความเครียดนั้นคืออะไร และมีหนทางใดที่จะช่วยแก้ไขหรือทำให้เบาบางลงได้ ขอให้ทำตัวเป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่ทำตัวเป็นคนชี้แนะหรือสั่งสอนใด ๆ เพราะปัญหาการเรียนของลูกครั้งนี้ใหญ่หลวงยิ่งนัก ลูกต้องอ่านและต้องทำความเข้าใจในตำราต่าง ๆ เอง การสนับสนุนเขานั้นสามารถทำได้หลายทาง ทั้งนี้ขึ้นกับสถานการณ์ในแต่ละขณะ

การเรียนสายวิทย์ ลูกจะต้องเข้าใจคณิตศาสตร์ให้ได้ตั้งแต่ชั้น ม.4 ในชั้นนี้นอกจากจะเรียนทุกวิชาในโรงเรียนแล้ว ลูกควรทุ่มเวลาในการทำโจทย์คณิตศาสตร์ ถ้าไม่เข้าใจ พ่อแม่ก็อาจหาครูที่มาสรุปเนื้อหาคณิตศาสตร์ในชั้นมัธยมปลายให้หมด เพื่อความเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดภายในชั้น ม.5 ไม่ควรให้ลูกเรียนพิเศษ หลาย ๆ วิชาในเวลาเดียวกัน เพราะการเรียนมากเช่นนี้ จะทำให้ลูกไม่มีเวลาที่จะทบทวนวิชาที่เรียนมา และไม่มีเวลาทบทวนเนื้อหาที่เรียนในโรงเรียน สุดท้ายก็เลยไม่เข้าใจทั้งในหลักสูตรและนอกหลักสูตร ในช่วงปิดเทอมใหญ่ของชั้น ม.4 อาจจะเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ฟิสิกส์ และเคมีเพิ่มเติม หลังจากที่ได้เรียนคณิตศาสตร์จนเข้าใจดี ช่วงปิดเทอม 3 เดือนนี้ ควรทำแบบฝึกหัดทบทวน 4 วิชาหลักนี้คือ คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ และอังกฤษ ในระหว่างเรียนในชั้น ม.5 นั้น ลูกอาจเรียนพิเศษเก็บ 4 วิชาหลักนี้ให้หมดหลักสูตรของชั้นมัธยมปลาย โดยในช่วงปิดเทอม 3 เดือนของชั้น ม.5 นั้น ควรนำแบบฝึกหัดของทั้ง 4 วิชานี้มาทบทวนเพื่อให้เกิดความชำนาญ ครั้นเริ่มเรียนในชั้น ม.6 ควรทำความเข้าใจในวิชาสังคม ภาษาไทย และชีววิทยา ระหว่างนี้ก็หมั่นทำข้อสอบวิชาต่างๆ เพื่อให้เกิดความชำนาญ และเพื่อไม่ให้ลืมเนื้อหาในวิชาเหล่านั้นโดยช่วงปิดเทอมในเดือนตุลาคมจะเป็น การเตรียมตัวครั้งใหญ่และเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการสอบต่าง ๆ ติดตามมา

ในกรณีที่ลูกเลือกเรียนสายศิลป์ในช่วงชั้นมัธยมปลายนั้น จะช่วยลดความเครียดจากการเรียนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ลงได้มาก แต่ลูกจำเป็นต้องเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอีกวิชาหนึ่ง เช่น ภาษาเยอรมัน หรือภาษาฝรั่งเศส เป็นต้น นอกเหนือจากวิชาภาษาอังกฤษที่ต้องเรียนลึกซึ้งมากขึ้นการเรียนในสายนี้จึงจำ เป็นอย่างยิ่งที่ลูกต้องอ่านทบทวนวิชาเหล่านี้อย่างต่อเนื่องร่วมกับการทำ แบบฝึกหัด รวมทั้งอาจจำเป็นต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชำนาญในการฟัง การพูด และการเขียนในวิชาต่างประเทศเหล่านี้ อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ในการสอบแข่งขันทั้งในการเข้ามหาวิทยาลัย หรือการสอบชิงทุนของรัฐบาลในสายศิลปศาสตร์

นอกจากนี้ ลูกอาจจะเลือกเรียนสายอาชีพหลังจบมัธยมศึกษาตอนต้น เช่นในการเรียนสายอาชีวะหรือการเรียนในสายพาณิชย์ ข้อดีของการเลือกเรียนสายอาชีพ คือ มีการแข่งขันในทางวิชาการน้อยกว่า และใช้เวลาในการศึกษาน้อยกว่า เพียง 3 ถึง 5 ปี ลูกก็สามารถจบหลักสูตร และออกทำงานเพื่อหารายได้ให้แก่ตนเองและช่วยแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจได้เร็ว แต่พ่อแม่ควรเอาใจใส่และอยู่ใกล้ชิดลูกให้มาก เพราะการที่ลูกเรียนโดยไม่ต้องแข่งขันกันมาก ลูกอาจจะมีเวลาว่างมากจึงมักจะจับกลุ่มไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ หลังเลิกเรียน พ่อแม่ควรให้ลูกได้ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนเรียนพิเศษเพิ่มเติมในวิชาที่ เกี่ยวข้องกับหลักสูตร เช่น การพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการฝึกภาคปฏิบัติในเครื่องยนต์ต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันมิให้ลูกจับกลุ่มกับเพื่อนไปเที่ยวแล้ว ยังช่วยฝึกฝีมือของลูก ทำให้เมื่อจบการศึกษาและไปสมัครงานมักจะได้รับการคัดเลือกง่ายกว่าผู้สมัคร รายอื่น

จะเห็นได้ว่าตลอด 2-3 ปีนี้ ในช่วงสายวิทย์นี้เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานสำหรับลูก ขอให้เข้าใจความเครียดและความกดดันของลูก พ่อแม่อย่าได้เพิ่มความกดดันให้แก่ลูก ในทางกลับกันควรหาทางลดความเครียดของลูกลงในทุกโอกาส เช่น การมีวันหยุดพิเศษ ควรพาลูกไปพักผ่อนชายทะเล หรือช่วงที่มีวันหยุดยาวหลายวัน อาจจะพาลูกไปทัศนาจรในต่างประเทศใกล้ ๆ ก็ได้ ลูกอาจจะหยิบหนังสือติดมือไปอ่านก็ไม่เป็นไร การเปลี่ยนสถานที่และบรรยากาศในการอ่านจะช่วยลดความเครียดของลูกลงได้ นอกจากนี้การเปลี่ยนมุมอ่านหนังสือภายในบ้านยังช่วยลดความน่าเบื่อในการอ่าน หนังสือที่ยาวนานนี้ได้เช่นกัน พ่อแม่อาจจะลงทุนจัดมุมใหม่หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในมุมอ่านหนังสือให้แก่ลูก ซึ่งจะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการลดความจำเจในการอ่านที่เดิมได้

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเข้าสอบแข่งขันของลูก ก็คือ อย่าขีดเส้นว่าลูกต้องได้คะแนนเท่าไร หรือควรได้คณะอะไร โดยการเอารางวัลเข้าล่อ เพราะอาจจะทำให้ลูกผิดหวัง รวมทั้งลูกอาจรู้สึกว่าตัวเองผิดที่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง ไม่ควรแสดงออกมาให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่หวังให้ลูกได้อะไร พ่อแม่ควรเป็นเพียงกองหนุนให้ลูกเป็นผู้ขีดความหวังเอง โดยพ่อแม่พยายามหาทางออกให้ลูกในกรณีที่ลูกผิดหวังจากการสอบ โดยแสดงให้ลูกรู้อยู่เสมอว่า พ่อแม่จะไม่เสียใจกับผลสอบของลูกเลย ไม่ว่ากรณีใด ๆ โดยได้เลือกสถานที่เรียนที่อื่นเผื่อไว้แล้ว ทั้งนี้ถ้าได้ปรึกษากับลูกล่วงหน้าก็จะเป็นการดี ให้เขาเป็นคนเลือกช่องทางเองว่าจะไปเรียนอะไรในกรณีที่ไม่ได้อันดับต้น ๆ ขอให้พ่อแม่แสดงออกอย่างจริงใจว่าผลจะออกมาอย่างไร พ่อแม่ก็ยังพอใจในตัวลูก ยังคงรักลูกและรักลูกมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ รักในความอุตสาหะตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านไป หรือตลอดเวลาที่ลูกได้ร่ำเรียนมาอย่าลืมว่าถึงแม้ลูกจะขะมักเขม้นกับการ เรียนมากแค่ไหน ก็ไม่ควรทิ้งกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นงานกลุ่ม งานห้อง งานโรงเรียน หรืองานกีฬา ถ้าลูกมีความชำนาญด้านใดก็ให้ช่วยงานตามความสามารถ เวลาที่เสียไปกับการงานเหล่านี้ไม่มากเลย ควรจะถือเป็นการคลายเครียดเพื่อมิให้หมกมุ่นแต่การเรียนอย่างเดียว ในทางตรงกันข้าม การทำกิจกรรมเหล่านี้กลับจะส่งผลดีต่อการเรียน เพราะสมองได้พักมาทำกิจกรรมด้านอื่นสักครู่ แล้วจึงกลับไปอ่านหนังสือในภายหลัง

การเรียน 3 ปีสุดท้ายในชั้นมัธยมนี้ถือว่าเป็นช่วงที่มีความเครียดมากที่สุด และเกิดขึ้นในขณะที่ลูกเป็นวัยรุ่น วัยที่เริ่มจะเติบโตเต็มวัยเมื่อมาพบมรสุมชีวิตเช่นนี้ ความผิดหวังครั้งแรกของลูกอาจร้ายแรงจนถึงขั้นที่ลูกอาจรับไม่ได้ ขอให้ระวังความผิดหวังครั้งแรกของลูกให้ดี อย่าลืมว่าการแข่งขันทุกครั้งย่อมมีผู้สมหวังและ ผู้ผิดหวัง อย่ามองโลกด้านเดียวว่าลูกจะสมหวังทุกครั้งให้ทางออกแก่ลูกในกรณีที่ผิดหวัง จากการแข่งขันทุกครั้ง ถ้าลูกสามารถรับความผิดหวังที่เกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อลูกในการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต ถ้าตลอดชีวิตที่ผ่านมาลูกมีแต่ความสมหวัง ก็อาจจะไม่ดี เพราะจะไม่มีทางทราบเลยว่าลูกจะรับมือกับความผิดหวังครั้งแรกและครั้งร้าย แรงอย่างไร เพราะถึงอย่างไร สักวันหนึ่งลูกก็จะต้องพบกับความผิดหวัง การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีมาตลอดตั้งแต่เล็กจะเป็นเกราะป้องกันความผิดหวัง ต่าง ๆ ลูกจะมองโลกแต่ในด้านดีตลอด สำหรับความสำเร็จในด้านการศึกษาของลูกนั้นต้องยกให้กับความอุตสาหะตลอด 12 ปีของลูก ที่ลูกจะต้องนำมาดัดแปลงให้เข้ากับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย บทบาทของพ่อแม่หลังจากนี้จึงควรเฝ้าดูการใช้ชีวิตของลูกอยู่ห่าง ๆ และคอยแนะนำหรือช่วยเหลือเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น

 

ที่มา : หนังสือ “ เลี้ยงลูกให้เก่งและดี ” หน้า 103-109 พิมพ์ครั้งที่ 7: 2551