Lovely Flash templates from TemplateMonster!

มัธยมต้น : เรียนอย่างมืออาชีพ

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์ พิภพ จิรภิญโญ


ความสม่ำเสมอในการเลี้ยงดูลูก ๆ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ปัญหาที่พบบ่อยในหลายครอบครัวก็คือ ความเอาใจใส่ต่อลูกของพ่อแม่จะมีมากเพียงชั้นประถมศึกษาตอนต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกินการเรียนหรือการทำกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ ของลูก โดยพ่อแม่นั้นอาจจะหันไปสนใจในการงานของตนเองหรือมุ่งทำธุรกิจของตนเองมาก เกินไป หรือในบางครั้งอาจจะหันเหไปเอาใจใส่น้องคนเล็กมากเกินไป โดยคิดว่าพี่นั้นโตพอที่จะดูแลตนเองได้แล้ว แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ลูก ๆ ควรได้รับการเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอเช่นเดิม เพียงแต่การช่วยเหลือลูกในขณะที่โตขึ้นนั้นอาจจะแตกต่างไปจากเดิม การเรียนในชั้นมัธยมต้นของลูกนั้นควรเอาใจใส่ในวิชาที่ลูกเรียน มากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะวิชาเหล่านี้ลูกจะเริ่มทำความเข้าใจด้วยตนเองยากยิ่งขึ้นและยังจะเป็น พื้นฐานที่สำคัญในการเรียนต่อในชั้นมัธยมปลาย ซึ่งลูกจะต้องเข้าใจวิชาเหล่านี้ให้ได้ดีเพื่อให้การเรียนในชั้นมัธยมปลาย ง่ายยิ่งขึ้น

เวลาเข้านอนของลูกในวันที่จะไปเรียนในวันรุ่งขึ้นนั้นอาจจะขยับมาเป็น 4 ทุ่มและตื่นนอนเวลา 6 โมงเช้าเช่นเดิม โดยพ่อหรือแม่ควรไปส่งลูกที่โรงเรียน หรืออาจไปรับประทานอาหารกับลูกที่ร้านอาหารใกล้โรงเรียน ไม่ควรปล่อยให้เขาเข้าโรงเรียนแต่เช้า นอกจากจะไม่ได้พูดคุยปัญหาต่าง ๆ กับลูกแล้วเขาจะมีเวลาก่อนเข้าเรียนมากเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะใช้เวลาเหล่านี้เล่นกับเพื่อน ๆ จนอาจรบกวนสมาธิเวลาเรียน การรับประทานอาหารกับลูกในช่วงเช้านี้ก็เพื่อจะได้มีเวลาพูดคุยปัญหาต่างๆ กับเขา ทั้งที่เกี่ยวกับเพื่อน ๆ การเรียนหรือเรื่องคุณครู โดยควรทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือโค้ชก็ได้ ไม่ควรทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินทุก ๆ ปัญหาของลูกหรือของสองพี่น้อง ควรให้แนวคิดในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แล้วหมั่นติดตามผลว่า ปัญหาของลูก ๆ เหล่านั้นได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไปด้วยดีหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องลงไปช่วยแก้ไขปัญหา เช่น การไปพูดคุยกับคุณครู ก็ควรทำโดยไม่ให้ลูกได้รู้ การบ้านของลูกบางครั้งก็อาจเป็นปัญหากับลูกได้เช่นเดียวกัน บ่อยครั้งที่การเรียนตามหลักสูตรนั้นไม่ตรงกับความสนใจของลูก เช่น การส่งงานเลื่อยฉลุหรืองานเย็บปักถักร้อยภายใน 2-3 วัน ซึ่งลูกอาจจะกำลังสนใจงานอื่นอยู่ เช่น การศึกษาคอมพิวเตอร์ การแข่งว่ายน้ำ หรือการแข่งเปียโน เป็นต้น พ่อแม่ควรมีส่วนช่วยงานเหล่านี้ของลูกเพื่อให้งานของลูกเสร็จเร็วขึ้น ทั้งนี้เพราะหลักสูตรในขณะนี้หาได้อยู่บนพื้นฐานความสนใจของเด็ก แต่หากเป็นหลักสูตรใหญ่ที่ทุกคนในประเทศต้องเรียนเหมือนกัน และคงอีกนานทีเดียวที่จะปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ ทั้งนี้เพราะทุกคนที่พยายามทำการปฏิรูปยังไม่เข้าใจว่า การเรียนโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางนั้นคืออะไร หลาย ๆ คนคิดว่าเด็กชอบอะไรก็ให้เรียนอย่างนั้น โดยในที่สุด หลาย ๆ โรงเรียนปฏิรูปการศึกษารูปแบบผิด ๆ ไม่มีการสอบวัดผลเป็นระยะ ๆ ไม่มีการบ้าน และลดความยากของข้อสอบลง ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนนั้นตกต่ำลง จนถึงปัจจุบันยังไม่มีโรงเรียนใดที่จัดการศึกษาได้ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะกรอบบังคับจากกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องเรียนวิชาต่าง ๆ มากมาย ทำให้แต่ละโรงเรียนไม่สามารถจัดการศึกษาตามแนวทางที่ถูกต้องได้

ในกรณีที่วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุด อาจจะอนุญาตให้ลูกเข้านอนเวลา 5 ทุ่ม และไม่ควรตื่นเกิน 7โมงเช้า ทั้งนี้เพื่อการปรับเป็นเวลาปกติในวัยเรียนได้ง่าย การนอนดึกมากแล้วตื่นสายนั้นจะทำให้วันจันทร์ปรับตัวยาก ทำให้เช้าวันจันทร์ยังมึนงง ซึ่งเช้าวันจันทร์ควรเป็นวันที่ลูกสดชื่นที่สุดของสัปดาห์ คุณครูก็มีความคิดนี้เช่นกัน

การสอนของคุณครูในวันจันทร์จึงมักจะเข้มข้นด้วยเนื้อหาและมักมีการบ้าน มากกว่าวันอื่น เพราะคิดว่าหลังจากหยุดมา 2 วัน สมองเด็ก ๆ คงโล่งลูกจึงต้องเตรียมตัวและเตรียมสมองสำหรับการเรียนในวันจันทร์ให้ดี เพื่อจะได้ไม่เบื่อหน่ายกับการเรียน

การเรียนในชั้นมัธยมต้นนั้นควรเรียนในโรงเรียนสหศึกษา คือ มีทั้งนักเรียนชายและนักเรียนหญิง เขาจะได้เคยชินกับเพื่อนเพศตรงข้าม ตั้งแต่ขณะที่ยังไม่เข้าสู่การเจริญเติบโตทางเพศ โดยเฉพาะบ้านที่มีลูก คนเดียว หรือมีมากกว่าหนึ่งคนแต่เป็นเพศเดียวกัน ถ้าไม่ได้คบกับเพศตรงข้ามตั้งแต่ขณะนี้อาจจะมีปัญหาการคบเพื่อนต่างเพศเมื่อ โตขึ้น หรืออาจะเกิดปัญหาการคบกับเพื่อนเพศเดียวกันในทางที่ผิดได้ เด็กผู้หญิงจะเริ่มมีการเจริญเติบโตทางเพศในชั้น ม.1 ในขณะที่เด็กผู้ชายจะเริ่มมีในชั้น ม.3 การคบหาเพื่อนต่างเพศตั้งแต่ชั้น ม.1 จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเพื่อนกันมากกว่า โรงเรียนต่าง ๆ ที่ยังมีการแยกเพศนั้นควรหันมารับนักเรียนทั้งชายและหญิง จะช่วยลดปัญหาความผิดเพศ และปัญหาความจริงจังกับความรักมากเกินไปของวัยรุ่นได้

เนื้อหาวิชาที่ควรเน้นในชั้นนี้คงเป็นคณิตศาสตร์เช่นเดิม รองลงมาคือภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ในชั้น ม.1 ถึง ม.3 นั้นมีความต่อเนื่องกัน ถ้าลูกมีความถนัดและได้รับการส่งเสริมมาตั้งแต่ชั้นประถม ก็จะเป็นการง่ายที่จะได้รับการส่งเสริมต่อในชั้นนี้ ในกรณีที่พ่อแม่ยังสามารถทำโจทย์คณิตศาสตร์เหล่านี้ได้ก็ควรสอนลูกด้วยตนเอง ลูกจะได้ใกล้ชิดกับพ่อแม่ และลูกยังจะนับถือพ่อแม่ว่าเป็นทุก ๆ อย่างของเขา คณิตศาสตร์ในชั้นนี้นั้นมีหนังสือนอกหลักสูตรมากมายและมีคำเฉลยพร้อม ให้ลูกทำแต่ละเรื่อง โดยเริ่มจาก ม.1 ต่อ ม.2 และต่อ ม.3 เช่น เรื่องสมการ จะเริ่มจากง่าย ๆ ก่อน แล้วค่อยสลับซับซ้อนขึ้น จนถึงเลขยกกำลังมากกว่า 2 ขึ้นไป ต่อไปก็เป็นเรื่องร้อยละ แล้วเป็นเรขาคณิต และตรีโกณมิติ ควรเข้าใจในแต่ละเรื่องให้ดีก่อนที่จะย้ายไปทำอีกเรื่องหนึ่ง การทำโจทย์มาก ๆ จะช่วยให้ลูกทำโจทย์ที่คล้ายคลึงกันได้เร็วขึ้นในช่วงสอบ เพื่อจะได้นำเวลาที่เหลือไปคิดโจทย์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เมื่อทำโจทย์ตามเนื้อหาหลักสูตรแล้ว ควรกำหนดเวทีให้ลูกได้ประลอง สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ การเข้าแข่งขันคณิตศาสตร์ประจำปีของสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทยที่มักจัด แข่งขันในช่วงปลายปีนั้นเป็นเวทีที่สำคัญแห่งหนึ่ง สมาคมได้จัดการแข่งขันมามากกว่า 40 ปี มีมาตรฐานสูง เด็กที่ทำคะแนนได้ในอันดับต้น ๆ ในชั้นนี้มักจะประสบผลสำเร็จในการศึกษาในชั้นมัธยมปลาย ทั้งนี้ในแต่ละปีมีนักเรียนเข้าร่วมการทดสอบมากกว่าหนึ่งหมื่นคนขึ้นไป การได้อันดับต้น ๆ ในการสอบแข่งขันถือว่ามีความเข้าใจคณิตศาสตร์ในชั้นนี้เป็นอย่างดี ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานของคณิตศาสตร์ในชั้นมัธยมปลาย แต่การเข้าร่วมแข่งขันจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ เลย ถ้าลูกไม่มีการเตรียมตัวที่ดีก่อนการแข่งขัน ควรเริ่มเข้าแข่งขันตั้งแต่ชั้น ม.2 โดยการทำโจทย์ตามหลักสูตรให้ครบก่อน เสร็จแล้วจึงทำข้อสอบแต่ละปีของสมาคมฯ อาจจะเตรียมตัวล่วงหน้าสัก 4-5 เดือน โดยเริ่มจากข้อสอบเมื่อ 10 ปีที่แล้วก่อน ให้ทำสัปดาห์ละครั้ง จับเวลาในการทำแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 3 ชั่วโมง ควรเฉลยให้ลูกทุกครั้ง การทำข้อสอบย้อนหลังมากกว่า 10 ปีขึ้นไป และลูกสามารถเข้าใจได้หมด จะทำให้เข้าใจข้อสอบที่จะออกใหม่ได้อย่างน้อยร้อยละ 80 อย่างไรก็ตาม ถ้าลูกได้เตรียมตัวมาอย่างดีตามวิธีการข้างต้น แต่คะแนนที่ทำได้ยังไม่ถึงร้อยละ 80 ก็ไม่ต้องเสียใจ ให้ลูกหมั่นทำต่อไป เพราะวิธีดังกล่าวจะทำให้ลูกชอบคณิตศาสตร์มากยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกันลูกควรได้รับการส่งเสริมวิชาภาษาอังกฤษ เพราะการสอบในชั้นมัธยมปลายนั้น วิชาภาษาอังกฤษมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ลูกได้คะแนนรวมดี วิชาภาษาอังกฤษนี้มีความละเอียดอ่อน ต้องจำคำศัพท์ให้ได้มาก เข้าใจการใช้ไวยากรณ์ และการเรียงประโยค จึงต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปี เพื่อให้เกิดความชำนาญและรักในวิชานี้ เด็กที่เก่งวิชานี้จึงได้เปรียบในการสอบแข่งขันชิงทุนใด ๆ ในชั้นมัธยมปลาย ในปัจจุบันมีหนังสือแบบเรียนและแบบฝึกหัดภาษาอังกฤษออกมาจำหน่ายมากมาย จึงควรวางรากฐานภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นนี้

พ่อและแม่ควรให้ความสนใจ โดยสอบถามหรือเปิดดูสิ่งที่ลูกได้เรียนมาหรือหาแบบฝึกหัดให้ลูกได้ทำ และร่วมเฉลยกับลูก ภาษาอังกฤษนี้มีสิ่งต้องเรียนรู้ จึงควรหมั่นทำข้อสอบอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตั้งแต่ชั้น ม.1 จนถึง ม.6 ก็จะสามารถครอบคลุมคำถามในข้อสอบทุนต่าง ๆ ได้

ความใกล้ชิดกับลูกตลอดปี 3 ปีนี้ จะทำให้รู้สึกว่าช่วงชั้นมัธยมต้นของลูกนี้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ในช่วง 3 ปีนี้ให้เน้นในเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ โดยเวทีคณิตศาสตร์ของสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทยเป็นเกณฑ์ตัดสินความก้าว หน้าของลูก และเป็นตัวชี้วัดว่า ความเข้าใจในวิชาคณิตศาสตร์ของลูกอยู่ในระดับใดของประเทศ ความใกล้ชิดและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ต่อวิชาที่ลูกเรียนในห้องเรียนจะช่วย แก้ไขปัญหาในเรื่องเรียน และทำให้ลูกเข้าใจวิชาต่าง ๆ ในหลักสูตรได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งหมดนี้ไม่ควรกำหนดหรือขีดเส้นว่าลูกต้องทำคะแนนได้เท่านั้นหรือเท่า นี้จึงจะได้รางวัล ขอให้ลูกมีการเตรียมตัวที่ดีทุกครั้งที่จะสอบหรือแข่งขันในกิจกรรมใด ๆ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร ก็ขอให้ชื่นชมลูกในความอุตสาหะ ความพ่ายแพ้สลับกับชัยชนะในบางครั้งจะสร้างให้ลูกแข็งแกร่งในอนาคตและพร้อม ที่จะเผชิญกับชีวิตจริงที่มีทั้งความผิดหวังและความสมหวังสลับกันไป