Lovely Flash templates from TemplateMonster!

ทำอย่างไรจึงจะเป็นครอบครัวที่มีคุณภาพ

ดร.นวลศิริ เปาโรหิตย์
หนังสือ "จิตวิทยาชีวิตครอบครัว" โดย ดร.นวลศิริ เปาโรหิตย์ หน้า 247-257

"ทุกข์สุขของครอบครัวจะขึ้นอยู่กับบุคคล สองคนคือพ่อและแม่ที่จะปั้นแต่งลูกให้ออกมามีลักษณะหน้าตา บุคลิกอย่างไร รวมทั้งความสุขและทุกข์ของทุกชีวิตในครอบครัวก็ล้วนขึ้นอยู่กับการวางตัวของพ่อแม่ในครอบครัวนั้นทั้งสิ้น" เราทุกคนต่างก็เกิดมาในครอบครัวเหมือนๆ กันแต่ทำไมบางครอบครัวดูจะมี "คุณภาพ" มากกว่าครอบครัวอื่น

  • บางครอบครัวพ่อแม่ลูก มีลักษณะคล้ายบุคคลแปลกหน้าที่ถูกจับมารวมอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน
  • บางครอบครัวมีแต่ความไม่เข้าใจ ขัดแย้งกันตลอด อยู่ใกล้กันแต่กาย แต่ใจห่างกันสุดขั้ว
  • แต่บางครอบครัว แม้จะทะเลาะกันบ้าง แต่ก็ยังดูรักใคร่กันดี

ครอบครัวที่กำลังนั่งอยู่ตรงหน้าผู้เขียนนี้ ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกสาว วัยรุ่น และลูกชายวัย 10 ขวบ ทั้งสี่ชีวิต กำลังเผชิญกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัว นั่นคือ ลูกสาวคนเล็กที่เพิ่งอายุได้ 5 ขวบ กำลังน่ารัก เพิ่งจากไปด้วยอุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิด ทั้งครอบครัวยังทำใจไม่ได้กับการสูญเสียน้องนุชสุดท้องไปในครั้งนี้ แต่ทั้งสี่คนพ่อแม่ลูก พยายามที่จะช่วยกันปลอบโยน ประคับประคองและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ความเข้มแข็งที่ฉายแววอยู่ในแววตาของพวกเขา ดูเหมือนจะเป็นเครื่องยืนยันกับผู้เขียนว่าทั้งสี่ชีวิต จะสามารถฟันฝ่าความทุกข์ในครั้งนี้ไปด้วยกันได้ในที่สุด นี่แหละคือครอบครัวที่มี "คุณภาพ" ครอบครัวหนึ่ง

สิ่งที่บ่งบอกถึงการเป็นครอบครัวที่มีคุณภาพคืออะไร?

ผู้เขียนได้รวบรวม ความคิดของนักจิตวิทยาทางครอบครัวและจิตแพทย์ที่กล่าวถึงตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพของครอบครัวไว้ได้ 11 ประการดังนี้

1) พ่อแม่คือแบบอย่างให้กับลูก พ่อแม่ของครอบครัวคุณภาพ จะมีลักษณะคล้าย "ตัวแบบ" ให้ลูกๆของเขา เป็นตัวแบบในการสร้างวินัยให้ลูกๆ คือ เขาจะไม่ "ตึง" หรือ "หย่อน" เกินไป เขาจะปกครองลูกด้วยความเข้าใจ และใช้เหตุผล เด็กๆ ที่เติบโตจากครอบครัวเหล่านี้ จะรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง พ่อแม่ แต่จะไม่ตามใจลูกจนเหลิงหรือบีบบังคับให้เด็กกลายเป็น "บอนไซ" ของพ่อแม่ แต่จะคอยกำกับดูแลลูกๆ คอยเป็นหางเสือให้ลูก เพราะเขาเข้าใจดีว่า เด็กๆ แม้จะต้องการอิสระบ้าง แต่เขาก็ต้องการให้พ่อแม่ให้ทิศทางแก่เขา พ่อแม่เหล่านี้จะรู้สึกว่า "การมีลูกคือความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ของชีวิต"

2) สมาชิกจะให้เกียรติและยอมรับในกันและกัน สมาชิกในครอบครัวทุกคน จะให้เกียรติและยอมรับกันในความเสมอภาคแห่งค่านิยมของสมาชิกคนอื่นๆ หมายความว่า สมาชิกในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือลูก จะมีการยอมรับในความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าเทียมกันและจะไม่ปฏิบัติต่อกันอย่างเหยียบย่ำดูแคลน ทุกคนยอมรับในความแตกต่างของคนอื่นๆ และชื่นชมในความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้ การยอมรับและให้เกียรติ ยังมีความหมายไปถึงการเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของสมาชิกครอบครัวทุกคน ลูกๆ จะไม่เข้าไปค้นของในกระเป๋าสตางค์ของพ่อแม่ ส่วนพ่อแม่ก็จะไม่แอบฟังโทรศัพท์หรืออ่านจดหมายส่วนตัวของลูกเป็นต้น

3) พ่อแม่คือผู้ที่พร้อมรับฟังลูก พ่อแม่จะรับฟัง ให้โอกาสได้พูดแสดงความคิดความรู้สึก พ่อแม่เหล่านี้ จะไม่มีการวางตัวเป็นพระพุทธรูปที่แตะต้องไม่ได้ เขาพยายามเป็นเพื่อนกับลูกรับฟังและให้โอกาสได้ดู ได้แสดงออก เพราะเขาเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความรู้สึกนึกคิดของตนเอง การให้เด็กได้มีโอกาสแสดงออกทางความรู้สึกและความคิดจะทำให้เด็กๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่คิดเป็น กล้าแสดงออกและมีความเชื่อมั่นในตนเอง คนที่ขี้กลัวขาดความเชื่อมั่น มักจะเป็นบุคคลที่ถูกปิดกั้นในความคิดจากพ่อแม่ของเขาในวัยเด็กเสมอ

4) พ่อแม่จะสื่อภาษาเดียวกับลูก ผู้ใหญ่และเด็กจะมองโลกต่างมุมมองกัน รวมทั้งภาษาที่เด็กใช้ก็จะต่างกับของผู้ใหญ่ การพูดภาษาเดียวกันกับลูก หมายความถึง การใช้สำนวนภาษาที่เด็กวัยนั้นจะเข้าใจได้ นอกจากนี้ พ่อแม่เหล่านี้จะรู้ว่า เด็กก็คือเด็ก เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ ดังนั้น การอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ อาจจะต้องทำซ้ำๆ กันหลายครั้ง บางที่ต้องพูดเป็นร้อยพันครั้งก็มี ก่อนที่เด็กจะรับรู้และเข้าใจ เพราะพ่อแม่คุณภาพเหล่านี้ เข้าใจดีว่า การทำซ้ำๆ บ่อยๆ เป็นหัวใจของการเรียนรู้ นอกจากนี้ เมื่อเวลาที่จะสื่อสารพูดคุยกัน สมาชิกจะมีจิตเมตตา ไม่จับผิดกัน มีคำพูดและการกระทำที่สอดคล้องกันไปในทิศทางเดียวกัน

5) พ่อแม่จะมีเวลาให้ลูกเสมอ ความต้องการของเด็กๆ ไม่สามารถจำกัดอยู่เฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้นและจะทำเป็นตารางไว้ไม่ได้ ดังนั้น พ่อแม่จะพยายามหาเวลาอยู่กับลูกให้มากที่สุด จะไม่มีข้ออ้างว่า งานยุ่ง ธุรกิจรัดตัว เพราะเขารู้ดีว่าเวลาที่จะอยู่กับลูกเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและผ่านช่วงเวลานี้ไปแล้ว เขาจะไม่สามารถหาช่วงเวลาอื่นมาทดแทนความขาดในช่วงนี้ได้เลย

6) พ่อแม่ทำความผิดพลาดได้ พ่อแม่จะบอกให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่คือมนุษย์ธรรมดาที่ทำผิดพลาดได้ และเมื่อพ่อแม่ทำผิด เขาจะยอมรับในความผิดพลาดนั้นทำให้ลูกรู้ว่าชีวิตที่แท้จริง มีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ เด็กๆจะกล้าคิด กล้าทำเมื่อทำผิดพลาดขึ้น ก็กล้ายอมรับผิด และเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข เด็กๆ จะไม่ถูกตอกย้ำในความผิดพลาดในอดีตของพวกเขาวันแล้ววันเล่า เขาจะสามารถงอกงามเติบโตได้ด้วยตนเอง โดยเอาความผิดพลาดมาเป็นบทเรียนเพื่อการเรียนที่สูงค่าในอนาคต

7) พ่อแม่จะไม่ใช้เด็กมาเติมความ "ขาด" ทางใจของพ่อแม่ พ่อแม่จะไม่ใช้ลูกมาเติมความ "ฝัน" หรือเติม ความ "ขาด" ในชีวิตของตัวพ่อแม่เอง แต่จะช่วยประคับประคองลูกให้งอกงามและเติบโตในทิศทางที่ลูกเลือก เด็กจะอิสระที่จะมีชีวิตที่สมบูรณ์ของเขาเอง เพราะไม่ต้องมาคอยเป็นแพะรับบาปในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ ชีวิตของพวกเขาจึงพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ

8) เมื่อมีการทะเลาะกันในครอบครัวทั้งครอบครัวจะจับเข่าคุยกัน ครอบครัวคุณภาพ ก็เหมือนครอบครัวอื่นๆ คือ มีความไม่ลงรอยเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ของสมาชิกพ่อแม่ลูก แต่เมื่อมีการทะเลาะกันเกิดขึ้น ทั้งครอบครัว จะจับเข่าคุยกันเพราะความเข้าใจดีว่า เหตุที่เกิดกับคนหนึ่งในครอบครัวจะมีผลกระทบถึงทุกคนด้วยเสมอ แต่การคุยกันจะเป็นลักษณะของการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่จิกตีด่าทอกัน หรือกล่าวหากันไปมา ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ดังนั้นปัญหาจึงได้รับการแก้ไขลุล่วงไปด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของสมาชิกทุกคน

9) มีทั้งสุขและทุกข์เกิดขึ้นในครอบครัว ครอบครัวคุณภาพไม่ใช่ครอบครัวที่มีแต่ความสุข สมาชิกเจอทั้งสุขและทุกข์เหมือนครอบครัวอื่นๆ แต่เมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤต ทุกชีวิตจะร่วมมือผนึกกำลังกันแก้ไข ให้ความสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อแก้ไขความกดดันหรือมรสุมจากภายนอก

10) สมาชิกมีส่วนร่วมในการ "ให้" กับครอบครัว สมาชิกในครอบครัวทุกคน ตั้งแต่พ่อลงมาถึงลูกๆ รู้จักบทบาทหน้าที่มีความรับผิดชอบต่อตนเอง และครอบครัว ทุกคนมี "งาน" หรือภาระหน้าที่ที่จะทำให้แก่ครอบครัว ไม่ทอดทิ้งให้คนใดคนหนึ่งต้องรับผิดชอบแทนสมาชิกทุกๆ คน และมีส่วนร่วมกันในความสำเร็จหรือผิดพลาดที่เกิดขึ้นในครอบครัว

11) มีอารมณ์ขัน ทุกคนหัวเราะให้กันได้ สมาชิกมีจิตเมตตา โดยเฉพาะในความผิดพลาดของผู้อื่นและตนเอง สามารถหัวเราะให้แก่กันและกันได้เสมอ ให้อภัยและไม่ติดใจจดจำ ที่บ้านมีบรรยากาศแห่งความสบายๆ ไม่เครียด เด็กๆ ไม่ต้องมีชีวิตอยู่กับความกลัว ความหวาดระแวงว่า เมื่อไรพ่อแม่เขาจะมาระเบิดอารมณ์เอากับพวกเขาอีกคล้ายชีวิตที่เดินอยู่บนเส้นด้าย ไม่รู้ว่า เมื่อไรจะขาดลงมา

การมองคุณภาพของครอบครัวในแง่มุมของพระพุทธศาสนา

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นข้อคิดเห็นจากทางด้านจิตวิทยา ที่มองลักษณะของครอบครัวที่มีคุณภาพ แต่ในส่วนที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นการมองคุณภาพของครอบครัวในแง่มุมของพระศาสนา โดยพระพรหมคุณาภรณ์ ในหนังสือ คู่มือชีวิต ท่านได้กล่าวไว้ว่า ในฐานะของชาวพุทธ คุณภาพชีวิตของครอบครัวที่มีความสุขควรจะประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้คือ

  • ทางด้านสุขภาพร่างกาย คือ การไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียน มีความแข็งแรง อายุยืน สมาชิกในครอบครัวจะมีร่างกายที่ไม่เจ็บป่วยและมีความเป็น สัพปายะ คือ ความสบายพอสมควร ความสบายในที่นี้ท่านแยกออกเป็น
    • ความสบายทางด้านอุตุ คือ สิ่งแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษจนมากเกินไป
    • ความสบายทางด้านอาหาร คือ มีอาหารพอเพียง ไม่ขาดแคลน
    • ความสบายทางด้านอาวาส คือ ที่อยู่อาศัย มีความมั่นคง ไม่เดือดร้อนในเรื่องที่อยู่ของครอบครัว คือ มีบ้านที่จะพักอาศัยได้อย่างมั่นคง
    • บุคคลสบาย หมายถึง คนที่อยู่ด้วยเป็นคนที่ถูกอัธยาศัยกัน ไม่เบียดเบียนกันด้วยพฤติกรรมและคำพูด มีจิตใจดี ไม่สร้างความเดือดร้อน วุ่นวายให้แก่กันและมีเมตตาต่อกัน
    • อิริยาบถสบาย คือ สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างไม่ติดขัดจะนั่งยืนเดินนอน ก็สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
    • โคจรสบาย คือมีแหล่งที่จะไปแสวงหา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม หรือความสะดวกอื่นๆ ได้ง่าย ไม่ลำบาก คืออยู่ในละแวกชุมชน ไม่โดดเดี่ยว
    • สวนะสบาย คือ สามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้อย่างไม่ลำบากและข้อมูล ก็เป็นข้อมูลที่สร้างสรรค์ ก่อให้เกิดปัญญา เมื่อได้สดับฟัง ได้มีโอกาสสนทนาและเปลี่ยนข่าวสารกับผู้ที่มีปัญญา เป็นผู้รู้ผดุงจิตใจ เอื้อต่อการพัฒนาจิต

    กล่าวโดยย่อ ในข้อหนึ่งนี้ คุณภาพชีวิตของครอบครัวในมุมมองของพระพุทธศาสนา โดยพระพรหมคุณาภรณ์ ก็คือ คุณภาพทางด้านวัตถุ หรือปัจจัยพื้นฐานของชีวิต อันได้แก่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เพื่อให้ร่างกายมีความแข็งแรง จะเห็นได้ว่าในเรื่องปัจจัยสี่พื้นฐานเหล่านี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวทุกคน ครอบครัวจะมีความสุขไม่ได้ ถ้าขาดองค์ประกอบที่เป็นความต้องการพื้นฐานของชีวิตเหล่านี้เสียก่อน ความอดอยากหิวโหย หากไร้ที่อยู่ หรือขาดแคลนทางด้านปัจจัยดำรงชีวิต ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการ ยังใช้ชีวิตให้ยืนยาวต่อไป ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ครอบครัวต้องมีเสียก่อนและเมื่อมีปัจจัยเหล่านี้แล้ว องค์ประกอบทางด้านอื่นที่จำเป็นจึงจะตามมา

  • การมีอาชีพที่สุจริต เมื่อมีด้านปัจจัยสี่แล้ว ขั้นต่อไปคือการมีอาชีพที่สุจริตที่จะนำมาซึ่งทรัพย์สินเงินทองที่พอเพียงในการใช้จ่ายของครอบครัวการมีอาชีพสุจริต การมีอาชีพสุจริต การพึ่งพาตัวเองได้ทางด้านเศรษฐกิจ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ครอบครัวอยู่ได้โดยไม่ลำบาก ท่านกล่าวว่า การดำเนินชีวิตที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ก็จัดเป็นคุณภาพชีวิตของครอบครัวได้ประการหนึ่ง เพราะการมีกินมีใช้พอเพียงสำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัวก็เป็นสิ่งจำเป็น คนเราทุกวันนี้ยุ่งอยู่กับเรื่องของการทำมาหากินกันถ้วนหน้า สมาชิกทุกคนในครอบครัวก็จะมีงานการทำกัน ที่ยังไม่ทำงานก็วุ่นอยู่กับการเล่าเรียนเพื่อจะจบออกไปประกอบอาชีพในอนาคต ดังนั้นจะเห็นว่า การมีอาชีพที่เป็นหลักแหล่งมั่นคงจึงจัดเป็นคุณภาพชีวิตที่สำคัญของครอบครัวอีกข้อหนึ่ง
  • การมีสถานะทางสังคม เป็นที่ยอมรับนับถือ มียศ มีตำแหน่งบริวาร มีผู้คนยกย่อง หรือมีฐานะทางสังคมที่เป็นที่รู้จัก ย่อมทำให้บุคคลรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า เกิดความอิ่มเอมใจสมาชิกในครอบครัวที่มีผู้นิยมนับถือจะทำให้คนในครอบครัวรู้สึกภูมิใจในครอบครัวของตน โดยเฉพาะถ้าพ่อแม่ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นที่ยกย่องจากสังคม ก็จะทำให้ลูกๆพลอยภูมิใจในความเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวด้วยเช่นกัน
  • การมีครอบครัวที่อบอุ่นผาสุก มีความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นสุข พี่น้องรักใคร่ปรองดองกัน ดูแลเอาใจใส่กันเป็นสิ่งสุดท้ายที่แสดงถึงคุณภาพของครอบครัว ในข้อนี้ แม้จะเป็นข้อสุดท้าย แต่กลับปรากฏความสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ แต่รู้สึกได้
  • พระพรหมคุณาภรณ์ได้กล่าวว่า ครอบครัวจะเป็นสุขได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้พ่อแม่ต้องปกครองลูกด้วยพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เมื่อรวมสี่ข้อเข้าด้วยกันแล้ว สามารถสรุปออกมาได้เป็นสองข้อ คือ ด้านความรู้สึกและด้านความรู้

    • ด้านความรู้สึก คือพ่อแม่ต้องมี ความเมตตา ความรัก ปรารถนาดีกับลูก กรุณา คือความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ มุทิตา ยินดีด้วยเมื่อประสบความสุข ความสำเร็จ ทั้งสามจะเป็นความรู้สึกที่ดี ทำให้ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูก รวมถึงสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัวมีความรัก ความอบอุ่น ร่าเริงแจ่มใส เป็นสุข นี้เป็นด้านความรู้สึก
    • ด้านความรู้ พ่อแม่จะต้องมีความรู้คือรู้จักใช้ปัญญา คือ คนเราอยู่กับธรรมชาติ เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จึงต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ไม่เข้าใครออกใคร พ่อแม่จะใช้ความรู้สึกไปรักลูกอย่างไร ก็จะทำเกินกฎธรรมชาติไปไม่ได้ ด้านนี้แหละถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ รุกล้ำเข้าไปจะทำให้เสียแก่ตัวลูกเอง ดังนั้น การวางอุเบกขาจึงจำเป็นสำหรับพ่อแม่ทุกคน จะต้องวางใจให้ถูกว่า เมื่อไรควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องและเมื่อไรควรปล่อยให้ลูกดูแลตัวเอง

    การทำให้ครอบครัวมีคุณภาพนั้น พ่อแม่จะต้องส่งเสริมความรู้สึกที่ดี ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีงาม รัก ให้คำปรึกษา ความอบอุ่น เป็นมิตรกับลูก อ่อนโยนและมีจิตใจดีและในขณะเดียวกันก็ต้องรักลูกอย่างมีปัญญาด้วย ไม่ใช่รักจากความรู้สึกของตนฝ่ายเดียว การรักลูกแบบมีปัญญาคือ จะต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของเขา ด้านที่เป็นธรรมชาติของชีวิตที่ลูกจะต้องพัฒนาอยู่กับความเป็นจริงของสังคม

    เริ่มตั้งแต่ดูแลในเรื่องของการกินอยู่ทางร่างกายของเขาที่จะต้องเจริญต่อไป และเตรียมพร้อมที่จะให้เขารับผิดชอบกับตนเองในอนาคต ไม่ควบคุมหรือปล่อยปละละเลยตามใจมากเกินไปจนขาดความพอดี ดังนั้น พ่อแม่จะต้องเลี้ยงลูกโดยใช้ปัญญาประสานกับอารมณ์ คือ เอาความรู้มาประสานให้สมดุลกับความรู้สึก นอกจากนี้ ครอบครัวต้องเป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์คือ พ่อแม่กับลูก โดยพ่อแม่จะต้องเป็นผู้นำด้านความรู้สึกและทัศนคติที่ดีงาม ลูกๆ จะต้องสร้างความรู้สึกของความเป็นพี่เป็นน้อง มีเมตตา คอยช่วยเหลือดูแลกัน ความรู้สึกของความเป็นพี่เป็นน้องกันนี้ จะอยู่เหนือความรู้สึกทางเพศของหญิง ชาย จะมีความเคารพในกันและกันระหว่างคนทั้งสองเพศ และเมื่อเด็กๆ เหล่านี้เติบโตอยู่ในสังคม เขาก็จะมีความเกี่ยวพันกับเพื่อนมนุษย์ในสังคมอย่างเหมาะควร มีความเป็นภราดรภาพกับทุกชีวิตที่เกิดมาร่วมสังคมกัน และรู้จักการมีเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขากับชีวิตผู้อื่นและชีวิตตัวเอง ก่อให้เกิดสันติสุขในสังคมที่เขามีส่วนร่วมในที่สุด จะเห็นว่าครอบครัวที่มีคุณภาพของทางฝั่งตะวันตกและตะวันออกมีความใกล้เคียงกัน ในแง่ของตะวันตกหรือทางจิตวิทยา จะเน้นเฉพาะในส่วนที่เป็นความสัมพันธ์ทางจิตใจมากกว่า ความต้องการทางด้านอื่นๆ เช่น วัตถุหรือปัจจัย 4

    แต่เมื่อมาพิจารณาถึงคุณภาพครอบครัวตามแนวพุทธศาสนาแล้วจะเห็นว่า ท่านได้พูดครอบคลุมถึงทุกจุดที่จะมีผลกระทบต่อสุขของคนในครอบครัว ตั้งแต่การมีปัจจัย 4 ความต้องการด้านพื้นฐานไปจนถึงทางด้านสังคม เศรษฐกิจที่จำเป็นและท้ายที่สุดก็คือ เน้นเข้าสู่เป้าหมายหลักก็คือการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เพราะท่านเห็นแล้วว่า ทุกข์สุขของครอบครัวจะขึ้นอยู่กับบุคคลสองคนคือพ่อและแม่ ที่จะปั้นแต่งลูกให้ออกมามีลักษณะหน้าตา บุคลิกอย่างไร รวมทั้งความสุขและทุกข์ของทุกชีวิตในครอบครัว ก็ล้วนขึ้นอยู่กับการวางตัวของพ่อแม่ในครอบครัวนั้นทั้งสิ้น

    สุดท้ายจะขอสรุปด้วยข้อคิดสั้นๆ ว่า ครอบครัวคุณภาพไม่ใช่ครอบครัว "เพอร์เฟค" ไม่มีใครในโลกที่มีครอบครัว "เพอร์เฟค" ทุกครอบครัวล้วนมีจุดเด่นจุดอ่อนในตนเอง แต่ครอบครัวคุณภาพ จะมีการปฏิบัติตัวของพ่อแม่ลูกที่ต่างออกไปจากครอบครัวไม่มีคุณภาพ ซึ่งสมาชิกจะรู้อย่างชัดเจนว่า ครอบครัวที่เขาเกิดมานี้มีคุณภาพหรือไม่ การได้อ่านข้อคิดจากผู้อื่นๆ อาจจะทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ในครอบครัวของเรายังมีส่วนใดที่ยังต้องแก้ไขปรับปรุงเพื่อเป็นครอบครัวที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การยอมรับในสิ่งที่บกพร่อง การพยายามช่วยแก้ไขประคับประคองกันของสมาชิกในครอบครัว ก็น่าจะเป็นสัญญาณบ่งบอกที่ดีว่าครอบครัวของเรากำลังพัฒนาไปสู่ ความเป็นครอบครัวที่มีคุณภาพในอนาคตอย่างแน่นอน